header

กฎการเสมอในหมากรุกไทย มีอะไรบ้าง?

กฎการเสมอในหมากรุกไทย มีอะไรบ้าง?

หากเคยเล่นหรือเป็นผู้เล่นหมากรุกไทยมาก่อน จะรู้ว่ากฎการเสมอของหมากรุกมีด้วยกันหลายรูปแบบ อีกทั้งยังมีความซับซ้อนของกฎที่ทำให้ผู้เล่นหลายคนปวดหัวมากๆ ทั้งการนับศักดิ์หมาก, นับศักดิ์กระดาน, หมากอับ หรือ กฎรุกล้อ วันนี้เราไปทำความรู้จักกฎเหล่านี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า

รูปแบบการเสมอในหมากรุกไทย

การเสมอในการแข่งขันหมากรุกไทย ตามกติกาการแข่งขันหมากรุกไทยจากสมาคมกีฬา กีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี 2561 ได้ระบุรูปแบบการเสมอต่างๆ เอาไว้ดังนี้

การเสมอจากกฎหมดเวลา

โดยปกติการแข่งขันหมากรุกไทย จะมีการจับเวลาของผู้เล่นแต่ละฝั่ง หากเวลาของผู้เล่นฝ่ายหนึ่งหมดลง จะพิจารณาตัวหมากที่เหลืออยู่ของผู้เล่นที่มีเวลาเหลือ หากผู้เล่นที่เวลาเหลือมีตัวหมากไม่พอรุกจน จะถือว่าเสมอ โดยตัวหมากต้องไม่น้อยกว่า

  • ขุน 1 / ม้า 1 / เม็ด หรือ เบี้ยหงาย 1
  • ขุน 1 / โคน 1 / เม็ด หรือ เบี้ยหงาย 1
  • ขุน 1 / เรือ 1
  • ขุน1 เบี้ยเทียม 3 ตัว

การเสมอจากหมากอับ

หมากอับ คือ กรณีที่ขุนของผู้เล่นไม่ถูกรุกแต่ขุนไม่มีตาเดินไปไหนได้หรือหมากตัวอื่นไม่สามารถเดินได้ จะถือว่าเกมนั้นเสมอ

การเสมอจากกฎรุกล้อ

“รุกล้อ” หรือ “เดินล้อ” เป็นการที่ผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่าย เดินหมากซ้ำตำแหน่งเดิมครบ 3 ครั้ง จะถือว่าเป็นการเดินล้อไปล้อมา ผลของเกมนั้นคือ เสมอ

การเสมอจากการเหลือขุนเพียงตัวเดียว

หากเกิดกรณีที่ผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่าย เหลือตัวหมากเพียงขุน 1 ตัว จะถือว่าเกมนั้นเสมอทันที เนื่องจากขุนจะทำได้เพียงเดินไปเดินมาและไม่สามารถรุกจนได้

การเสมอจากการตกลงกัน

หากผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่าย เห็นตรงกันว่า เกมๆ นี้ไม่สามารถรู้ผลแพ้ชนะได้ หากมีการตกลงขอเสมอกันของผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่าย จะถือว่าเกมนั้นเสมอ

แต่หากมีผู้เล่นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอม ผู้เล่นสามารถขอใช้สิทธิ์นับเพื่อเสมอได้ ซึ่งการนับเพื่อเสมอจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ การนับศักดิ์กระดานและการนับศักดิ์หมาก แล้วทั้ง 2 มีความแตกต่างกันอย่างไรไปดูกัน